sakkapoom.blogspot.com

.......................................................
ผ่านทาง... สร้างประสบการณ์ ให้ชีวิต
ผ่านชีวิต... สร้างจิตสำนึก ต่อสังคม
ผ่านสังคม... มอบสิ่งดีงาม เอาไว้ให้
ผ่านไป... ชีวิตวางทางไว้เบื้องหลัง จะมีสักกี่ครั้งที่จะได้หันกลับไปมอง.


27 กรกฎาคม, 2550

บัตรทอง ที่ว่างเปล่า...

นิตยสาร FINANCIAL FREEDOM (คิดต่าง ทางเดียวกัน)
เล่ม 4 / มกราคม 2550



Charlie and The Chocolate Factory ผลงานของผู้กำกับแหวกตลาด ทิม เบอร์ตัน สร้างจากปลายปากกาของนักเขียนวรรณการเยาวชนผู้เลื่องชื่อ โรอัลด์ ดาห์ล เรื่องราวการแสวงหาบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปจากวัยเด็ก ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สีสรรจัดจ้าน ฉากและตัวละครสุดโต่งเกินจริง เสียดสีลึกลงสู่รากความคิดพ่อแม่หลายคนในสังคมปัจจุบัน แต่ก็ยังคงสารัตถะของเรื่องเอาไว้ด้วย ความหมายของชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ซาบซึ้ง กินใจ และอิ่มสุข

...บัตรทองนำโชค ๕ ใบ ถูกซุกซ่อนไว้ภายในห่อแท่งช็อกโกแลตหลากรส ที่ออกมาจากโรงงานของ วิลลี่ วองก้า ชายหนุ่มสติเฟื่องผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งเขาจะผลิตแต่ขนมหวานรสเลิศ ด้วยกลวิธีพิศดารพร้อมทั้งเหล่าคนงานตัวเล็กที่น่าอัศจรรย์ แต่ตัว วิลลี่ เองกลับมีอดีตที่ ขมขื่นซุกซ่อนอยู่หลังเรียวฟันงามสะอาด ที่จะปรากฏพร้อมกับใบหน้าซีดขาวและผมทรงประหลาดภายใต้หมวกทรงสูงเสมอ เป็นอดีตที่เขาไม่เคยจดจำ หรือแกล้งหลงลืมมันไป นานมาแล้ว

...เบื้องหลังบัตรบอกชัดว่า ในเด็ก ๕ คนที่ได้เข้าเยี่ยมโรงงานพร้อมผู้ปกครอง จะมีเด็กเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่สามารถผ่านการทดสอบจะได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดได้ จุดเริ่มต้นถึงจุดหมายปลายทางนั้นนำมาซึ่ง บททดสอบ การสั่งสอน เพื่อเลือกสรรคัดกรองเด็กดีที่คู่ควรกับรางวัลแห่งชีวิต ทั้งยังเป็นบทพิสูจน์ความรักที่มีต่อครอบครัว และที่สุดแล้วมันก็ถูกใช้ค้นหาตัวตนของ วิลลี่ วองก้า เองอีกด้วย


...ด้านนอกโรงงานฯ เล่าถึงครอบครัว บั๊คเก็ต และหนูน้อยชาร์ลี ผู้เฝ้ามองโรงงานช็อกโกแลตด้วยความสงสัยว่าข้างในนั้นมีอะไร ? ด้วยเงินที่มีเพียงน้อยนิดจากแรงงานของพ่อ ชาร์ลี มีโอกาสที่จะได้กินช็อกโกแลตเพียงปีละหนึ่งแท่งเท่านั้น แต่ในปีนั้นนับว่าเป็นปีพิเศษสุดในชีวิตของเขา หนูน้อยมีโอกาสได้เสี่ยงโชคกับข่าวลือเรื่องบัตรทองถึง ๒ ครั้ง... จนกระทั้งสุดท้ายของสุดท้ายโชคจึงเลือกที่จะเข้าข้างเด็กที่แสนจนคนดีอย่าง ชาร์ลี บั๊คเก็ต...เขาได้เป็นเจ้าของบัตรทองใบหนึ่ง

...แต่บทพิสูจน์ชีวิตจริงเพิ่งจะเริ่ม ในโชคดียังมีโชคดีกว่าที่ต้องเลือก เมื่อมีผู้เสนอให้เงินตราจำนวนหนึ่งซึ่งมากกว่าราคาช็อกโกแลตหลายเท่า เพื่อแลกกับบัตรทองใบนั้น ตั๋วที่จะใช้ผ่านประตูโรงงานอัศจรรย์ และราคาของมันก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะค่าความรักที่เหล่าพ่อแม่มีต่อลูกอีกเช่นกัน



...เมื่อความจริงอันขมขื่น กับความใฝ่ฝันแสนงาม วางคู่อยู่ตรงหน้า มีความเจ็บปวดเป็นของแถมอยู่เสมอที่จะต้องเลือก... ระหว่างความต้องการปัจจัยพื้นฐานของชีวิต กับโอกาสที่เฝ้าฝัน หนูน้อยชาร์ลี คิดย้ำมาตลอดทางที่วิ่งกลับบ้าน และเมื่ออยู่ต่อหน้าพ่อ,แม่,ปู่,ย่า,ตา,ยาย ท่ามการรอยยิ้มแห่งความปิติสมหวัง ชาร์ลี กลับยืนยันทางออกในสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง เป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ของเด็กตัวเล็ก ๆ ที่มีหัวใจที่ใหญ่ยิ่ง

ชาร์ลี “ ไม่... ผมจะไม่ไป... 
ผู้หญิงคนหนึ่งจะจ่ายผม ๕๐๐ เหรียญ
เพื่อแลกกับตั๋ว พนันได้ว่า...ต้องมีคนที่ให้มากกว่านี้… ”


...ทุกคนถึงกับอึ้งกับการตัดสินใจของหนูน้อย ทั้ง ๆ ที่นี่คือความหวังเดียวของ ชาร์ลี และก็เป็นความสุขแสนพิเศษของคนทั้งครอบครัวบั๊คเก็ต ท่ามกลางความเงียบ... แล้วคุณตาคนที่พูดจาไม่เข้าหูใครที่สุดในเรื่อง ก็พูดทำลายความเงียบนั้นขึ้นว่า...

คุณตา “ หนุ่มน้อย มานี่ซิ...” ชายชราผู้ไม่เคยลงจากเตียงเก่าคร่ำ เขาจับที่ไหล่ทั้งสองแล้วจ้องตามองหลานรักอย่างจริงจัง อ่อนโยน พร้อมกับพูดประโยคเด็ดของเรื่องว่า...

คุณตา “ มีเงินอยู่มากมาย ข้างนอกนั่น... พวกเขาพิมพ์เพิ่มขึ้นทุกวัน...
แต่ว่าตั๋วนี่... ในโลกนี้มีอยู่เพียง ๕ ใบเท่านั้น และจะไม่มีวันมีมากไปกว่านี้
มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะยอมแลกมันกับของธรรมดาอย่าง เงิน...
หลานเป็น คนโง่ หรือเปล่า ? ”


ชาร์ลี “ เปล่าครับ ” ในแววตาหนูน้อย เหมือนจะขอบคุณคำพูดของคุณตา

...แล้วชาร์ลีและคุณปู่โจ ก็ได้มีโอกาสท่องไปในโรงงานช็อกโกแลตที่แสนมหัศจรรย์ ร่วมกับเพื่อนแปลกหน้าและผู้ปกครองของพวกเขา เป็นการเดินทางสุดพิเศษท่ามกลางสิ่งเร้า ทางเลือก และการตัดสิน เนื้อใหญ่ใจความของหนัง ต้องการสื่อถึงสถาบันครอบครัว กับวิธีการเลี้ยงดูบุตรของผู้ใหญ่ กับผลกระทบที่มีต่อเด็กในปกครองของเขา ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ทำออกมาได้อย่างแสบสันต์ มีจินตนาการ ซึ่งอาจไม่ตรงใจของผู้ใหญ่นัก สำหรับลูก ๆ ของผม พวกเขาสนุกสนานไปกับเรื่องราว พวกเขาชอบเพลงที่ชนเผ่าอูมปา-ลุมป้า ร้องสอนเด็ก ๆ ในแต่ละบทเรียนที่ผ่านทาง ผมเห็นรอยยิ้มเสียงหัวเราะอย่างมีความสุข เด็ก ๆ ร้องเพลงประกอบท่าเต้นตามอย่างคนตัวเล็ก ที่ดูแล้วน่ารักแบบ อูมปา-ลุมป้า (ทั้งที่ฟังแล้วจี้เข้าไปถึงใจดำผู้ใหญ่อย่างผม) ผมจะใช้โอกาสนี้พูดคุยเรื่องการประพฤติตัวเป็นเด็กดีและการใช่จ่ายอย่างจำกัดผ่านตัวละคร บอกสอนลูก ๆ ไปในตัว




...เด็กดีคนสุดท้ายที่จะได้รับรางวัลก็คงต้องเป็น ชาร์ลี ที่อ่อนน้อมถ่อมตัวและเข้าถึงธรรมชาติของขนมหวาน วิลลี่ วองก้า ผู้เปลี่ยวเหงา เสนอรางวัลที่หนูน้อยไม่อาจปฏิเสธ พร้อมกับข้อเสนอที่ไม่อาจรับได้ คือการจากครอบครัว ซี่งนั่นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ฉุดรั้ง ชาร์ลี เอาไว้



ชาร์ลี “ ถ้าผมไปอยู่กับคุณที่โรงงานแล้ว ผมจะไม่ได้เจอกับครอบครัวผมอีกใช่ไหม ?

วิลลี่ " ใช่...ถือว่าเป็นโบนัสก็แล้วกัน! "

ชาร์ลี " งั้น...ผมก็ไม่ไป ผมไม่ยอมแลกครอบครัวผมกับอะไรทั้งนั้น... 
แม้แต่กับ ช็อกโกแลต ทั้งโลกก็ตาม ”



...แล้วบัตรทองที่ได้กลับกลายเป็นความว่างเปล่าอีกครั้งสำหรับชาร์ลี หากเขารู้ว่าที่สุดแล้วเป็นเช่นนี้ เขาคงยินดีเลือกเอาเงิน ๕๐๐ เหรียญ หรืออาจจะมากกว่านั้นเพื่อปะทังชีวิตคนทั้งครอบครัว ยังดีเสียกว่าต้องพลัดพรากจากพวกเขาไปตลอดกาล การใช้ชีวิตก็คงไม่ต่างจากการได้ลิ้มลองรสชาดของช็อกโกแลตอยู่ทุกวัน ในหวานนั้นซ่อนขม ในขมนั้นอมหวาน ในสุขนั้นเคลือบทุกข์ ในทุกข์นั้นเจือสุข คละเคล้าปนเปกันอยู่อย่างนี้เสมอ ใครเลยจะล่วงพ้นความจริงนี้ได้...


...ตอนจบของเรื่องคงไม่ต้องเล่า เพราะจุดมุ่งหมายของผมเพียงต้องการให้คุณได้รับรู้ว่า... ตั๋วทอง บัตรผ่านประตูที่นำมาสู่รางวัลแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ สำหรับ ชาร์ลี แล้วมันกลับว่างเปล่าไร้คุณค่า เมื่อเทียบเคียงกับความหมายของการได้อยู่ร่วมกันในครอบครัวเล็ก ๆ ที่ยากจน แต่ก็อบอุ่นและเป็นสุข จะมีอะไรมีค่าไปกว่าการได้มีความสุขแบบธรรมดา ๆ ที่ถักร้อยขึ้นจากเงื่อนไขที่แสนจะธรรมดา นั่นก็คือ “ ความรัก ” สภาวะอันทรงพลานุภาพยิ่งใหญ่ น่าอัศจรรย์ใจ ยิ่งกว่าสิ่งใดใดในโลก.






แหลม ศักย์ภูมิ
๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๙



....................................................................................