sakkapoom.blogspot.com

.......................................................
ผ่านทาง... สร้างประสบการณ์ ให้ชีวิต
ผ่านชีวิต... สร้างจิตสำนึก ต่อสังคม
ผ่านสังคม... มอบสิ่งดีงาม เอาไว้ให้
ผ่านไป... ชีวิตวางทางไว้เบื้องหลัง จะมีสักกี่ครั้งที่จะได้หันกลับไปมอง.


25 ตุลาคม, 2550

ทำบุญด้วยแรง 1.

นิตยสาร FINANCIAL freedom ...(คิดต่าง ทางเดียวกัน)
volume 01 number 07 APRIL 2007


ปี ๒๕๔๙ เป็นปีแห่งการรณรงค์ให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมกันทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง เนื่องในวโรกาสทรงครองราชครบ ๖๐ ปี ช่วงกลางปีนั้นผมและคณะมูลนิธิมวยไทยไชยา ได้เดินทางไปที่วัดต่าง ๆ หลายวัดในเขตจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อร่วมสร้างพระ
พวกเราได้รับข่าวจากสมาชิกมูลนิธิมวยไทยไชยาคนหนึ่ง ซึ่งเคยบวชเรียนที่วัดที่จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ แรกเริ่มนั้นพระอาจารย์วีระและพระลูกวัดทำการหล่อพระกันเอง ด้วยกำลังพระเพียงสิบกว่ารูป ผสมปูน เทปูนกันเองมาสองวันสองคืนแล้ว แต่งานยังไม่คืบหน้า ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากมากที่แรงงานเพียงสิบกว่าคนกับงานเทปูนหล่อพระหนักนับร้อยตัน

พระอาจารย์วีระท่านจึงโทรมา ขอแรง...ให้ไปช่วยกันสร้างพระ งานนี้ไม่ต้องการเงินบริจาค ไม่ต้อการปัจจัยอื่น หากแต่ต้องการแรงงาน กำลังกายเท่านั้น... ซึ่งหลังจากงานนั้นเป็นต้นมา ผมและคณะก็ถือเป็นกิจวัตรสำคัญที่ต้องไปทำ เมื่อทราบข่าวว่าแม่พิมพ์พระองค์นี้ถูกนำไปจัดสร้างที่วัดใด พวกเราก็จะตามไปร่วมทำบุญด้วยแรงเกือบทุกครั้ง หากระยะทางไม่ไกลนัก
พระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์นี้หน้าตักกว้าง ๕ เมตร ๙๐ / สูง ๘ เมตร จัดสร้างขึ้นโดยพระอาจารย์วิโรจน์ เจ้าอาวาสวัดสะพัง กำแพงแสน นครปฐม เมื่อสร้างเสร็จได้ทำพิมพ์ไว้ แม่พิมพ์พระใหญ่องค์นี้ถูกนำไปจัดสร้างในหลาย ๆ วัด ส่งต่อกันมาจนถึงวัดในจังหวัดกาญจนบุรี (ปัจจุบันได้สร้างพระจากแม่แบบนี้ให้กับวัดต่าง ๆ ไปแล้วกว่า ๒๐ องค์ / ปี ๒๕๔๙)



การสร้างพระเริ่มจากทุนสองแสนบาท จากการรับบริจาคทั่วไปหรือจากผู้มีจิตศรัทธาขอเป็นประธานในการจัดสร้างโดยตรง โดยทุนที่ได้นำไปซื้อวัสดุในการก่อสร้าง อิฐ หิน(นิล) ปูน ทราย เหล็ก ฯลฯ จากนั้นก็ก่ออิฐขึ้นฐานที่ตั้งองค์พระและผูกเหล็กแบบขึ้นรูปแล้วจึงนำแม่พิมพ์มาประกอบ จากนั้นจึงเริ่มผสมปูนทรายและนิล (เป็นความเชื่อเรื่องแร่รัตนชาติ ซึ่งนิลในแถบนั้นหาได้ง่ายทั้งยังมีราคาไม่สูงมาก) ผู้มีจิตศรัทธาทั้งพระและฆารวาส ทั้งชายหญิงจะมาช่วยกันผสมปูน รับถังปูนส่งกันเป็นทอด ๆ ขึ้นไปยังองค์พระ เทปูนลงในแบบ ถังแล้วถังเล่า ตั้งแต่ช่วงเช้าไปจนตกบ่าย ใครเหนื่อยล้าก็จะมีคนคอยผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่แทน เมื่อปูนถูกเทมาถึงช่วงคอองค์พระก็จะหยุดเพื่อนำโอ่งลายมังกรใบใหญ่สองใบส่งต่อกันขึ้นมา โอ่งใบหนึ่งบรรจุแผ่นชะตาซึ่งผู้มาร่วมงานจะเขียนชื่อ นามสกุลและวันเดือนปีเกิด ไว้ในแผ่นดวงนี้นำฝากไว้ในองค์พระใหญ่ เป็นเสมือนฝากดวงชีวิตของตนไว้กับองค์พระพุทธเจ้า ส่วนโอ่งอีกใบจะใส่พระพุทธรูปหรือพระประจำวันเกิดที่ชาวบ้านนำมาถวายวัดเพื่อบรรจุไว้ในองค์พระด้วย
เมื่อตั้งโอ่งสองใบไว้ในช่วงพระพักต์พระพุทธรูปผูกเหล็กไว้ดีแล้ว ก็จะเทปูนอีกรอบจนปูนเต็มพระเศียรก็จะหยุดเพื่อผูกเหล็กและประกอบแบบช่วง พระเกตุมาลา (รัศมีที่อยู่เหนือเศียรของพระพุทธรูป) ซึ่งในขั้นตอนนี้พระทั้งวัดจะเริ่มสวด ชยมงคลคาถา อัญเชิญ พระธาตุ นำขึ้นประดิษฐานไว้ในพระเกตุมาลานี้ จากนั้นจึงเทปูนขั้นสุดท้ายปิดพระเกตุมาลา เป็นเสร็จพิธี



เมื่อองค์พระแล้วเสร็จผู้คนเริ่มทยอยกันกลับ แต่งานหลักของพวกเรากำลังจะเริ่ม เมื่อปูนจับตัวกันดีแล้ว (ราว ๓ ชั่วโมง) ก็ถึงขั้นตอนการแกะแม่พิมพ์ ขั้นตอนนี้ต้องการความปราณีตบรรจงมาก เมื่อถอดน็อตจากแบบ ออกแล้วจะต้องค่อย ๆ แกะแบบและแซะปูนตามรอยต่อแม่พิมพ์ออก เนื้อปูนถึงจะจับตัวกันแล้ว แต่ก็ยังไม่แห้งแข็ง ขั้นตอนนี้ปูนจะเร่งคลายความร้อนออกทำให้น้ำในเนื้อปูนกลายเป็นละอองไอ ลอยขึ้นมารอบ ๆ องค์พระใหญ่ ค่ำคืนที่อากาศหนาวเย็นการทำงานรอบองค์พระนับว่าอบอุ่นจนถึงร้อนเหงื่อตกได้เลยที่เดียวครับ

ทุกครั้งที่ไปร่วมงาน ผมจะได้เห็นภาพของความสมัครสมานสามัคคีกันของผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาจากที่ต่าง ๆ มาเพื่อลงแรงร่วมมือร่วมใจกัน มีศูนย์รวมจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หลาย ๆ คนนำอาหารและน้ำมาช่วยในงาน ผมเห็นคนทุกเพศทุกวัยหลากหลายอาชีพและฐานะทางสังคม มาช่วยกันอย่างแข็งขันอยู่กลางแดด ทั้งขนทราย ตักนิล ส่งปูน เทปูน ทำอาหาร ส่งน้ำ อย่างเต็มที่เต็มใจ ไม่มีเกี่ยงว่าใครทำมากใครทำน้อย แม้ผู้เฒ่าผู้แก่ก็มานั่งพนมมือสวดมนต์กันในศาลา ร่วมอำนวยอวยชัยให้พระใหญ่สร้างสำเร็จ เป็นภาพที่ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่สาธุชนผู้พบเห็นยิ่ง...

งานในหนึ่งวันจากเช้าจนดึก... (๑๐ – ๑๕ ชั่วโมง) พระใหญ่องค์นี้จะตั้งเด่นเป็นสง่าให้ผู้มีจิตศรัทธาในพระศาสนาเคารพกราบไหว้ต่อไปอีกกว่าร้อยหรือสองร้อยปี นับว่าคุ้มค่ากับหยาดเหงื่อแรงกายที่ทุ่มเทลงไปอย่างมาก ยังจะมีกิจกรรมดีดีอย่างนี้อีกในอนาคต ผมได้ทราบข่าวมาว่าเวลานี้ แม่พิมพ์พระองค์นี้ถูกนำไปยังภาคใต้แถบจังหวัดตรังและจะถูกนำไปจัดสร้างอีกหลาย ๆ วัดทั่วประเทศ...
เมื่อคุณได้อ่านบทความนี้แล้ว คุณเองก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานบำเพ็ญประโยชน์นี้ได้ ด้วยเพียงร่วมยินดีในการสร้างพระใหญ่ไปกับพวกเราด้วย พร้อมกับตั้งจิตให้สงบ ตั้งใจให้เป็นกุศล ร่วมอนุโมทนาบุญ (พร้อมยกมือพนมจรดหน้าผาก) แล้วเปล่งคำว่า ......สาธุ
ด้วยการ “ออกแรง” เพียงเท่านี้ จิตใดที่บริสุทธ์สงบสะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง ขุ่นเคือง จิตใดที่พลอยยินดีในกุศลธรรมอันประกอบขึ้นโดยไม่เจือความโลภ,โกรธ,หลง บุญ ย่อมเกิดกับจิตที่เป็นมหากุศลดวงนั้น.



............................................

* บุญ น. ความดี, ความดีความงาม, (ปาก) กุศลที่เกื้อหนุนมาแต่อดีต เช่น เขาเป็นคนมีบุญ รากศัพท์ทำว่า บุญ มาจาก ภาษาบาลี – ปุญญ / สันสกฤต – ปุญย (พจนานุกรม ฉบับมติชน)
* บุญ เครื่องชำระสันดาน, ความดี, กุศล, ความสุข, ความประพฤติชอบทางกาย วาจาและใจ, กุศลธรรม (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์)



*ปัจจุบัน ปี2552 แม่พิมพ์นี้ได้ถูกนำไปจัดสร้างพระพุทธรูปแล้ว 155 องค์ และยังคงจัดสร้างอยู่

หลวงปู่มั่น สอนธรรม



" คล้ายกับคน ไม่ใช่คน
ธรรม ไม่ใช่ธรรม ...ผลจึงไม่มี
ความจริง คนก็คือ คน
ธรรมก็คือ ธรรม อยู่นั่นเอง
แต่...คนไม่สนใจใน ธรรม
ธรรมก็ไม่เข้าถึงใจคน

...จึงกลายเป็นว่า
คนก็สักว่า คน
ธรรมก็สักแต่ว่า ธรรม อยู่นั่นเอง "

.........หลวงปู่ มั่น ภูริทัตต มหาเถระ.............