sakkapoom.blogspot.com

.......................................................
ผ่านทาง... สร้างประสบการณ์ ให้ชีวิต
ผ่านชีวิต... สร้างจิตสำนึก ต่อสังคม
ผ่านสังคม... มอบสิ่งดีงาม เอาไว้ให้
ผ่านไป... ชีวิตวางทางไว้เบื้องหลัง จะมีสักกี่ครั้งที่จะได้หันกลับไปมอง.


12 เมษายน, 2558

ธรรมาวุธ 



...บรรพชนไท ได้คิดค้น ฝึกฝน กลวิธีการต่อสู้ป้องกันตัว และยังประยุกต์เอาความเชื่อในรูปของการใช้ เครื่องราง ของขลัง มนต์คาถา การกำหนดจิต ปลุกปราณ ต่าง ๆ มาประกอบเพื่อสร้าง ขวัญ กำลังใจ ทั้งนำพลังอำนาจลึกลับ ยากจะอธิบายเข้ามาประกอบ ในการทำศึก สงคราม แม้การต่อสู้เฉพาะตัว
หลายคนมักสงสัยว่าความเชื่อเหล่านี้ มีอยู่จริงหรือ? พิสูจน์ได้หรือไม่? ข้าพเจ้าคงไม่ขออธิบาย เพราะถึงจะไม่มีคำอธิบาย แต่ก็มีให้เห็นอยู่เนื่อง ๆ เมื่อเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นส่งผลเหนือธรรมชาติ และเรื่องนั้นยากจะเกิดขั้นได้ ทั้งยังสัมพันธ์กับโชคลาง ของขลังที่คนผู้นั้นนำมาบูชาติดตัว จึงเป็นการย้ำความศรัทธาให้กับผู้เชื่อถือ

อีกทั้งครูบาอาจารย์เอง ก็ยึดถือเชื่อมั่น และปลูกฝัง ถ่ายทอดวิชาเหล่านั้นให้กับศิษย์ ศรัทธาความเชื่อทั้งหลายทั้งมวลล้วนมาจาก องค์ประกอบที่สำคัญมากที่สุด ก็คือ ตัวผู้ฝึกฝนเอง ที่จะต้องประพฤติตนเป็นคนดี มีปกติศีลเป็นอารมณ์ ผ่านการฝึกฝน เคี่ยวกรำ ทั้งทางกาย จิตใจ เพื่อให้เข้าถึงพร้อมด้วย วิชา และปัญญา โดยมี พุทธศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ที่สำคัญยิ่ง ส่วนหนึ่ง

ปาฏิหาริย์จะไม่เกิดขึ้นได้เลย หากผู้นั้นมิได้ประพฤติตนให้อยู่ในธรรม นับเป็นหลักสามัญลักษณ์ ของคำสอนที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง “ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว” เมื่อจิตครองธรรม จิตนั้นย่อมเป็นสุข เมื่อกาย เต็มเปี่ยมด้วยวิชา กาย นั้นย่อมเกิดสติ พิจารณาไตร่ตรอง มีความสุขุมรอบครอบ มีเหตุ และผล หนทางที่จะนำไปสู่เหตุทะเลาะวิวาทก็ไม่เกิดขึ้น หากแม้พบกับปัญหา จิตที่ฝึกมาดีแล้ว ย่อมจะจัดการกับปัญหานั้น ๆ ด้วย วิถีทางแห่งสันติธรรม เป็นเบื้องต้น หากชัยชนะนั้นได้มาโดยไม่ต้องต่อสู้ ย่อมประเสริฐกว่าชัยชนะทั้งปวง

แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายแล้ว สัญชาติญาณที่ถูกฝึกวิชามาดีแล้ว ก็จะปลุกให้กาย ตื่นขึ้น มีสติอยู่ตลอดเวลา และจัดการกับปัญหาโดยธรรม เมื่อมีธรรมเป็นตัวกำหนด ความโกรธ คิดแค้นเคือง พยาบาท ก็จะไม่ปรากฏ มีแต่เพียงจิตที่ต้องการให้ปัญหายุติไปเท่านั้น ระงับการต่อสู้ ด้วยการใช้วิชาการต่อสู้ ที่ฝึกจิตมาดีแล้ว ความรุนแรงย่อมน้อยลง ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา




ธรรมะคืออาวุธ ถึงที่สุดแล้ว วิชาต่อสู้ป้องกันตัว อาจไม่ถูกใช้ออก การปะทะกันก็ไม่เกิดขึ้น ผู้รู้ตัวทั่วพร้อม ย่อมสงบเย็น ย่อมสำรวมกาย ระมัดระวังจิต จึงเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ไปในที่ที่ควรไป ในเวลาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงปัญหา ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ภัยใด ๆ ก็ไม่อาจแผ้วพานเขาได้ วิทยายุทธ์เป็นเพียงสะพานเชื่อมให้ ผู้ว่างเปล่า ได้เข้าใกล้ความสมบูรณ์ เต็มเปี่ยม ถึงพร้อมด้วยธรรม อันประกอบด้วยองค์ ๓ คือ

๑. อาตาปี (ผู้มีความเพียร เผากิเลสให้ร้อน)
๒. สติมา (ความระลึกได้, ระลึกทัน, ไม่เผลอ)
๓. สัมปชัญญะ (ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ชัดเข้าใจชัด)

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติธรรม วิปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อนำ จิต ให้เข้าถึงความสงบสุขอันเต็มเปรี่ยมบริบูรณ์

พาหุยุทธ์ และกายวิญญัติธรรม บทเรียนการฝึกนี้ แท้จริงแล้ว มุ่งหมายเพื่อ
ชักนำ กายหยาบ ที่ยังทะยานอยาก และลุ่มร้อน ตะล้อมห้อมห่อกายนั้นให้รู้วาง รู้ว่าง คลายตัวตนละเสียจาก อัตตา (ความยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ ว่ามีอยู่) อีกทั้ง กระบวนท่าฝึก พาหุยุทธ์ มวยไชยา ยังมุ่งที่จะ กำราบปราบใจไว้ ระงับจิตที่สั่นไหวด้วยความโลภ โกรธ หลง อาฆาต พยาบาท ด้วย วิชา (การฝึกหนัก) ให้รู้อ่อน รู้เย็น รู้ยอม

และเมื่อ กายหยาบ อ่อนล้า จิตหยาบ ย่อมอ่อนแรง โดยเหตุนั้น กิเลสหยาบ ที่หาบคอนมานานปี ก็อ่อนฤทธิ์ สิ้นทิฐิ ยอมฟัง ปล่อยให้ จิต ที่ละ เลิก วาง ว่างแล้วเป็นใหญ่

กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (มีสติกำหนดดูรู้เท่าทันกาย และพิจารณากาย)
แม้ขั้นต้น ย่อมชี้ชัดชักนำ จิต ขั้น โลกิยวิชา (วิชาของทางโลก) ให้เห็นซึ้งถึง

๑. ความไม่เที่ยง
๒. เป็นทุกข์
๓. มิใช่ตัวตน

ธรรมอันเป็นสามัญลักษณ์ ๓ (ไตรลักษณ์) นี้ที่จิตยึดเหนี่ยวไว้เป็นตัวตนมานานปี ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ล้วนเป็นเพียง สมมุติบัญญัติ ซึ่งหาก จิตหยาบ ละจากบัญญัตินี้เสียได้ จิตละเอียด ย่อมจะเข้าถึง โลกุตรปัญญา (ความรู้ที่พ้นวิสัยของ-โลก) อันเป็นยอดแห่ง วิชชา (ความรู้แจ้ง) ทั้งมวล นำสุขอันเกษมมายังจิต ยิ่งขึ้นเป็นลำดับไป..




แหลม ศักย์ภูมิ
๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘

กลุ่ม ไทอชิร 
กระบี่ กระบอง - มวยโบราณ