(คิดต่าง ทางเดียวกัน) เผยแพร่ในเว็บ
...ครั้งหนึ่ง ขณะที่กษัตริย์หวนกงแห่งรัฐฉี (สมัยชุนชิว ขึ้นเสวยราชย์เมื่อ ๖๘๕ – ๖๔๓ ปีก่อน ค.ศ.) ทรงเสด็จออกล่าสัตว์ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นกวางตัวหนึ่งหนีออกจากวงล้อมวิ่งเตลิดเข้าไปในเขตป่าเขา กษัตริย์หวนกงจึงกระตุ้นม้าให้วิ่งตามเข้าไปยังหุบเขาที่สลับซับซ้อน
แต่ก็หากวางตัวนั้นไม่เจอ กษัตริย์หวนกงจึงทรงควบม้ากลับ แต่แล้วก็หาทางกลับไม่ได้ ขณะที่พระองค์กำลังทรงร้อนพระทัยอยู่นั้น ก็ทอดพระเนตรเห็นชายชราผมสีขาวโพลนผู้หนึ่งแบกฟืนเดินผ่านทางมา
“ นี่ พ่อเฒ่า ” กษัตริย์หวนกงตรัสถาม “ หุบเขานี้ชื่อหุบเขาอะไรหรือ ? ”
“ ชื่อหุบเขาลุงโง่ ” ชายชราตอบออกไป
“ เหตุใดจึงมีชื่อว่าหุบเขาลุงโง่ล่ะ ? ” พระองค์ทรงสงสัย
“ เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นคนที่อยู่ที่นี่มาตลอด ตั้งแต่เด็กจนแก่ เขาจึงได้ชื่อของข้าพเจ้ามาเรียกหุบเขาแห่งนี้ ”
กษัตริย์หวนกงทรงรู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลก พระองค์ทอดพระเนตรดูชายชราผู้นั้น ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า แล้วทรงตรัสว่า
“ ดูท่าทางท่านก็เป็นคนเฉลียวฉลาด ทำไมจึงได้ชื่อว่า ลุงโง่ล่ะ? ”
ชายชราตอบว่า “ สาเหตุของมันเป็นเช่นนี้ คือแม่วัวที่ข้าพเจ้าเลี้ยงไว้ ออกลูกมาตัวหนึ่ง ข้าพเจ้าเลี้ยงลูกวัวตัวนี้จนโตเป็นวัวหนุ่ม แล้วจึงนำไปขายในตลาดและซื้อลูกม้าตัวหนึ่งนำกลับบ้าน ไม่นานเด็กหนุ่มอันธพาลในหมู่บ้านก็เข้ามาที่บ้านข้าพเจ้าแล้วพูดว่า....
“ บ้านแกเลี้ยงแม่วัว ทำไมจึงออกลูกเป็นม้าได้ ? แกคงไปขโมยม้าของคนอื่นมาแน่ ๆ ”
พูดแล้วมันก็จูงเอาลูกม้าของข้าพเจ้าไปดื้อ ๆ เมื่อเพื่อนบ้านทราบเรื่องนี้เข้า ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าพเจ้าเป็นคนโง่และได้ตั้งชื่อให้ว่า “ ลุงโง่ ”
“ อ้อ เรื่องเป็นเช่นนี้เอง ” กษัตริย์หวนกงตรัสพร้อมกับทรงพระสรวล
“ เรื่องนี้เป็นเรื่องโง่จริง ๆ เพราะไม่มีใครหรอกที่จะปล่อยให้คนอื่นมาจูงเอาม้าของตนไปอย่างง่าย ๆ เช่นนี้ ”
ชายชราไม่พูดอะไร บอกทางที่จะไปให้แก่กษัตริย์หวนกงแล้วก็แบกฟืนเดินจากไป
เมื่อกษัตริย์หวนกงเสด็จกลับถึงวังแล้ว วันรุ่งขึ้นพระองค์นำเรื่องที่ทรงรู้สึกว่าขบขันนี้เล่าให้ก่วนจ้ง (นักการเมืองผู้มีชื่อเสียง)ฟัง
ก่วนจ้งฟังแล้วสีหน้าเปลี่ยนไปในทันทีและรีบคุกเข่าลง กษัตริย์หวนกงจึงตรัสถามถึงสาเหตุ ก่วนจ้งทูลด้วยน้ำเสียงที่แสดงความเสียใจว่า
“ ชายชราผู้นั้นหาใช่คนโง่ไม่ พวกเราที่ทำหน้าที่ปกครองนี่แหละเป็น คนโง่ ! ถ้าหากเบื้องบนมีผู้ประเสริฐ กฏหมายก็เคร่งครัดแล้ว จะเกิดเรื่องแย่งลูกม้าของคนอื่นไปง่าย ๆ ได้อย่างไร ถ้าเกิดขึ้น ชายชราก็ย่อมจะไม่ยอมอย่างเด็ดขาด...
แต่เวลานี้ชายชรารู้ดีว่า ขุนนาง ข้าราชการล้วนชอบกินสินบน บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ถึงไปฟ้องร้องได้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้นปล่อยให้เด็กหนุ่มอันธพาลจูงเอาม้าไปย่อมเป็นการดีกว่า ขอพระองค์ได้โปรดพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการปกครองเถิดพะย่ะค่ะ ”
บันทึกใน “ ซ่อย่วน ” (ปรัชญาชีวิตในสุภาษิตจีน / แปลโดย ก.กุนนที ปี ๒๕๓๐)
ลองเทียบนิทานเรื่องนี้กับเหตุการณ์การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน... เรามี ลุงโง่ หรือไม่ ?
คำตอบคือ มี และไม่มี กับเรื่องราวทำนองนี้ สำหรับบางคนก็สู้ยิบตา ยอมไม่ได้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เช่น ในเหตุการณ์ที่มิจฉาชีพสองคนฉกกระเป๋าหนังลูกแกะราคาแพงลิบของหญิงสาว เรื่องนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แล้วแฟนหนุ่มของเธอซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ก็บึ่งรถยนต์คันหรู ไล่ชนคนร้าย ผลที่ได้คือหนึ่งในสองมิจฉาชีพตาย รถราคาแพงคันนั้น เกิดประสบอุบัติเหตุไฟลุกท่วม...
ชายหนุ่มเจ้าของรถคันนั้นรอด และได้กระเป๋าคืนให้หญิงสาวคนรัก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเทียบค่า ราคาของกระเป๋า กับ รถยนต์ หรือ แม้กระทั้งราคาค่าชีวิตของคนที่ตายไป
แล้วกับหลาย ๆ เหตุการณ์ ผู้ถูกล่วงละเมิดหลายคนก็ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม โดยไม่ปริปาก การกรรโชกทรัพย์ ข่มขู่ ข่มขืน ความอับอาย กลัวเกิดเรื่อง หรือจำยอม ๆ มันไปพวกมันใหญ่โตคับเมือง พวกนี้ไม่มีค่าที่จะแลก และก็ยังมีให้เห็นเป็นข่าวอยู่ในสังคมไทยอีกมาก
ถ้าให้คุณเลือกว่าระหว่างการรอพึ่งกฏหมายบ้านเมือง กับการลุกขึ้นมาปกป้องทรัพย์สิน, ศักดิ์ศรีหรือ
ชีวิตของตนเอง อย่างใดที่ควรทำก่อน...
ด้วยเหตุนี้ คนอย่าง ก่วนจ้ง จึงเป็นคำตอบที่ควรมองหา ข้าแผ่นดินที่มีสำนึกรับผิดชอบแม้ในเหตุการณ์เพียงเล็กน้อยในสายตาผู้ปกครอง เขาก็ยังใช้ปัญญาพินิจ วิเคราะห์ อย่างละเอียดครอบคลุม มองเห็นปัญหาในระดับจุลภาค ที่ชี้ให้เห็นถึงจุดบกพร่องของผู้มีอำนาจหน้าที่และระบบกฎหมายการปกครองระดับประเทศ เขากล้าพูดกล้าเสนอแนะและที่สำคัญเขายังกล้าที่จะวิพากย์วิจารย์การทำงานของตนเอง ผู้มีปัญญากล้าหาญเช่นนี้แหละที่ทุกประเทศ ทุกระบบการปกครองย่อมต้องการ
เราทุกคนคงคาดหวังกันว่า... หากบ้านเมืองของเรามี เสนาบดี ข้าราชการ และนักการเมืองดีดีอย่าง ก่วนจ้ง ที่คอยคำนึงถึงสุขทุกข์ของประชาราษฏร์ ทำงานอย่างเต็มกำลัง (อย่างจริงจังและจริงใจ) เคร่งครัดในตัวบทกฏหมายบ้านเมือง (ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) เห็นประโยชน์มวลรวมของชาติเป็นใหญ่ (มากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องพงษ์ญาติหว่านเครือ ฯลฯ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ) กันทุกวงการหน่วยงานต่าง ๆ หากเป็นได้เช่นนี้ ท่านเจ้านายผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ดีเหล่านั้นก็คงจะทำให้เรื่องของ ลุงโง่ ไม่เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในแผ่นดินจีนยุคโบร่ำโบราณนานตะเกนู้นนนนนนอีกต่อไป
เราต่างก็ต้องการ ก่วนจ้ง สักหลายคน...อยู่ร่ำไป คาดหวังจะได้เห็นคนเช่นนี้ที่ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม คาดหวังจะได้พึ่งพิง ได้รับการคุ้มครองและความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วพวกเราทุก ๆ คนต่างหากเล่าที่จะต้องลุกขึ้นมาทำอย่าง ก่วนจ้ง ด้วยการสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่พลเมืองต่อการงานในส่วนเฉพาะตน แล้วจึงขยายไปสู่สังคมต่อไป ต่อต่อไป.
แหลม ศักย์ภูมิ
๑๕ ก.ค. ๕๐
..............................................................